เนื่องด้วยรูปแบบการบริหารจัดการด้านการเรียนการสอนในปัจจุบันได้มุ่งเน้นไปยังหลักสูตรโดยตรง ดังจะเห็นได้จากการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาที่มุ่งเน้นการตรวจประเมินในระดับหลักสูตร ประกอบกับอัตราการเกิดของประชากรที่มีแนวโน้มลดลงทำให้จำนวนนักเรียนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมีจำนวนลดลงตามไปด้วย ปัจจุบันจำนวนนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อคณะวิจิตรศิลป์ยังอยู่ในระดับที่เป็นไปตามเป้าหมายการรับเข้า แต่เมื่อพิจารณาถึงที่มาของจำนวนนักศึกษาที่รับเข้า พบว่า เป็นนักศึกษาที่รับมาจากการสอบเข้าตามระบบ TCAS ในรอบที่ 3 และ รอบที่ 4 เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมิได้มีการทดสอบทักษะทางด้านศิลปะหรือมีแฟ้มสะสมผลงานดังเช่นรอบที่ 1 และรอบ 2 ซึ่งอาจส่งผลต่อการเรียนการสอนและอัตราการคงอยู่ของนักศึกษาที่ลดลง
ในปี 2562 ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์และทีมงานสายสนับสนุนจากงานบริการการศึกษา งานนโยบายและแผน และงานบริหารทั่วไป ได้เข้าศึกษาดูงานคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีการจัดโครงสร้างองค์กรและบริหารจัดการหลักสูตรในรูปแบบของ “สำนักวิชา” ที่ทำหน้าที่บริหารงานด้านวิชาการ รวมถึงบริหารงบประมาณ อัตรากำลัง และงานธุรการ โดยที่หลักสูตรมีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะด้านการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับด้านวิชาการเท่านั้น
คณะวิจิตรศิลป์ พิจารณาเห็นว่าการบริหารงานในรูปแบบดังกล่าวน่าจะมีความคล่องตัวในการทำงาน ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อนของการทำงาน ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน และเพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสอดคล้องกับสถาการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ตลอดจนจะทำให้คณาจารย์ในสาขาวิชา/หลักสูตรได้มีเวลามุ่งเน้นพัฒนาวิชาการหลักสูตรและพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่ จึงมีแนวคิดนำแนวทางการบริหารงานดังกล่าวมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาทางวิชาการคณะวิจิตรศิลป์ด้วย โดยปัจจุบันส่วนงานวิชาการในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีการจัดโครงสร้างองค์กรในลักษณะของสำนักวิชา เช่น คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
อย่างไรก็ตาม คณะวิจิตรศิลป์เห็นว่าหากจะมีการปรับเปลี่ยนดังกล่าว คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของคณะฯ ควรมีส่วนร่วมและได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ดังนั้น คณะกรรมการบริหารประจำคณะวิจิตรศิลป์ เมื่อคราวประชุมครั้งที่ 11/2563 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 จึงได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงสร้างทางวิชาการของคณะฯ โดยคณะทำงานดังกล่าวประกอบด้วยกลุ่มคณาจารย์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนจากสาขาวิชาในระดับปริญญาตรี จำนวน 9 คน พร้อมด้วยที่ปรึกษาคณะทำงาน 2 คน โดยมีหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงสร้างทางวิชาการของคณะฯ และหาแนวทางการพัฒนาโครงสร้างวิชาการและสร้างแบบจำลองโครงสร้างวิชาการ (Model) ที่เหมาะสมกับคณะวิจิตรศิลป์ เพื่อนำเสนอคณาจารย์ในคณะฯ ให้ความเห็นร่วมกัน
ดังนั้น คณะวิจิตรศิลป์จึงจัดโครงการสัมมนาการพัฒนาโครงสร้างวิชาการคณะวิจิตรศิลป์และการสัมมนาผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ เพื่อคณะทำงานจะได้ร่วมระดมความคิดเพื่อหาแนวทางการพัฒนาโครงสร้างวิชาการและแบบจำลองโครงสร้างวิชาการดังกล่าว พร้อมนี้ คณะผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะได้สัมมนาร่วมกันในการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์คณะวิจิตรศิลป์เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปรับปรุงโครงสร้างวิชาการของคณะวิจิตรศิลป์ในครั้งนี้ด้วย